คุณรู้หรือไม่ว่า เรื่องราวเล็กๆ เพียงแค่กระบวนการซื้อ app ผ่าน app store นั้น จะมีเรื่องราวน่าสนใจ และควรค่าแก่การรับรู้ ซึ่งคุณจะเชื่อหรือไม่ว่า ยักษ์ใหญ่แบรนด์ดัง เขามองว่า การทดลองหักเงินจากบัญชีธนาคารเป็นจำนวน 1 USD นั้น เป็นเพียงแค่เรื่องเล็กๆ เป็นเศษเงินจำนวนน้อยนิด แต่เรื่องเล็กๆ เงินน้อยๆ ที่ว่านี้ อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับธนาคารไทย หรือใครบางคนที่กำลังจะได้อ่านบทความต่อไปนี้ก็ได้
ขณะนี้ สังคมออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการซื้อแอพพลิเคชั่นจากแอพสโตร์ (app store) ด้วยบัตรเดบิตของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งจะมีการทดลองหักเงินจากบัตรที่ทำรายการทุกครั้ง 1 USD หลังจากซื้อแอพพลิเคชั่นเสร็จสิ้น จึงทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อมาว่า การทดลองหักเงินนั้น เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่? ทำไมต้องทดลองหักเป็นจำนวนเงิน 1 USD? วิธีการอื่นไม่มีหรือ? และเบื้องลึกเบื้องหลัง การซื้อ app เป็นเช่นไร?
ปัจจุบัน ผู้ใช้มักผูกบัตรเดบิตไว้กับอุปกรณ์ไอทีของตัวเอง เพื่อง่ายต่อการดาวน์โหลดได้อย่างรวดเร็ว
ทางทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ติดต่อสอบถามไปยังแหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทย โดยเธอผู้นี้ เป็นผู้คร่ำหวอดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ซึ่งเธอชี้แจงอย่างละเอียดเป็นฉากๆ ถึงกระบวนการซื้อ app ผ่าน app store ถ้าใครที่ไม่รู้ ก็ควรรู้ เพราะจะได้ไม่เสียรู้ให้เจ็บใจ
ทำไมผู้ซื้อ app ผ่าน app store ต้องโดนหักเงิน 1 USD?
แหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า การที่จะเข้าไปซื้อแอพพลิเคชั่นในแอพสโตร์ได้ ทางผู้ใช้จะต้องเข้าไปลงทะเบียน Apple ID ซึ่งระบบจะสอบถามว่าผู้ใช้มีความประสงค์ที่จะผูกบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตของธนาคารที่ผู้ใช้ถืออยู่หรือไม่ โดยคนที่ชอบซื้อแอพพลิเคชั่น หรือสะดวกที่จะผูกบัตรเครดิต ก็จะทำการผูกบัตรเอาไว้เลย เพื่อง่ายต่อการซื้อของต่างๆ โดยกระบวนการของ app store นั้น จะต้องมีการตรวจสอบว่า บัตรเดบิตนั้นๆ ใช้งานได้จริงหรือไม่ มีผู้ถือบัตรอยู่จริงหรือไม่ หรือมีคนเข้าไปแกล้งกรอกรายละเอียดมั่วๆ หรือไม่ เพราะฉะนั้นกระบวนการของ app store จะมีคำสั่งมายังธนาคารเจ้าของบัตรให้ทดลองตัดเงิน
App Store ย่อมาจาก Application Store คุณสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ได้ที่นี่
Apple Inc. เกิดเมื่อปี 2497 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย
โดยหน้าที่ต่อไปของธนาคารเจ้าของบัตรก็คือ ยืนยันความถูกต้อง และตรวจสอบรายละเอียดว่าเป็นบัตรเดบิตของธนาคารที่มีการใช้งานอยู่จริงหรือไม่ ส่วนกรณีที่ลูกค้าที่โดนตัดเงินไปก่อน 1 USD ถึง 2 ครั้ง ทั้งๆ ที่ซื้อสินค้าไปเพียงแค่ครั้งเดียว นั้น มีสาเหตุมาจาก app store มีคำสั่งมายังธนาคารให้ตัดเงินบัญชีนั้นๆ 2 ครั้ง ซึ่งทางธนาคารจะไม่ทราบเหตุผลถึงการสั่งตัดเงินของ app store แต่อย่างใด โดยธนาคารจะมีหน้าที่ทำตามคำสั่ง app store เท่านั้น และเมื่อครบ 30 วัน ทางธนาคารจึงจะเห็นว่า app store ส่งมาตัดเงินถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกคือ ทดลองหักเงิน เพื่อตรวจสอบว่าบัตรมีเงินหักได้จริง และครั้งที่สอง คือ ทดลองหักเงิน เมื่อลูกค้าซื้อสินค้า ดังนั้น สาเหตุที่ทางธนาคารตัดเงินถึงสองครั้งนั้นมาจากธนาคารไม่รู้มาก่อนว่า มีการหักครั้งแรกไปก่อนแล้ว ซึ่งกรณีเช่นนี้เป็นเหมือนกันทุกธนาคารในประเทศไทย และทางธนาคารก็จะคืนเงินลูกค้าในวันที่ 33 ต่อไป
สำหรับกรณีที่ลูกค้าไม่ซื้อสินค้า แต่ลงข้อมูลผูกบัตรเดบิตเอาไว้ ทาง app store ก็จะสั่งธนาคารเจ้าของบัตรให้ตัดเงิน 1 USD เพื่อเป็นการตรวจสอบว่า บัตรนั้นๆ สามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ โดยธนาคารจะไม่ทราบถึงสาเหตุในการสั่งหักเงินของทาง app store เลย แม้แต่ธนาคารอื่นๆ ทั่วโลกก็ไม่ทราบเช่นกัน และวันที่ 30 ทางธนาคารก็จะรู้ว่า app store ไม่ได้เรียกเก็บ เพราะลูกค้าไม่มีการซื้อ ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ 33 ธนาคารก็จะคืนเงินให้ลูกค้า
โทรศัพท์มือถือ เป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ไปแล้ว
คุณจะถูกหัก 1 USD ก็ต่อเมื่อ...?
หากผู้ใช้ลงทะเบียนกับทาง Apple id ในครั้งแรก หรือมีการกรอกข้อมูลบัตรเดบิตใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลบัตรเดบิตอีก ไม่ว่าจะกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ทาง Apple จะทดลองหักเงินจากบัตรที่ทำรายการ 1 USD ทุกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่า บัตรนั้นๆสามารถหักเงินได้จริงหรือไม่ ซึ่งปัญหานี้เป็นเหมือนกันทั่วโลก
หากคุณใช้บัตรเครดิต จะไม่เกิดเหตุการณ์หักเงินเช่นนี้แน่ เพราะว่าทางธนาคารสามารถระบุยอดค่าใช้จ่ายและมีกำหนดรอบชำระหนี้ชัดเจนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องทดลองหักก่อน ซึ่งแตกต่างจากบัตรเดบิต ที่จะต้องทำการตรวจสอบก่อนว่า บัตรเดบิตนั้นๆ มีเงินอยู่หรือไม่ หมายเลขบัตรถูกต้องหรือไม่ ตรวจสอบเสร็จสิ้น จึงจะตัดเงินได้
ฉะนั้น ถ้าไม่อยากโดนหักก็ไม่ต้องไปผูกบัตรใดๆ ไว้กับ app store หรือสำหรับใครที่ผูกบัตรเอาไว้แล้ว ก็อย่าเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูล หรือกรอกหมายเลขบัตรซ้ำอีกครั้ง เพียงเท่านี้ คุณก็จะไม่โดนการเรียกเก็บซ้ำซ้อนอย่างแน่นอน
หลายต่อหลายคนโดนหักเงิน โดยที่ไม่รู้ว่า หักไปเพื่ออะไร ทั้งๆ ที่ยังไม่ซื้อแอพ
เลือกซื้อ เลือกช็อปได้เพียงปลายนิ้ว
ใหญ่อ่ะแล้วไง!? แบงก์ไทยแนะ Apple เช็กบัญชีแบบไม่หักเงิน แต่ Apple ไม่สน!
แม้ว่า ทางธนาคารต่างๆ จะยื่นข้อเสนอให้แก่ทาง app store แล้วว่า ทางธนาคารสามารถทดลองหักเงิน โดยใช้วิธีหักเงินในจำนวน 0 บาท เพื่อตรวจสอบบัญชี หรือใช้วิธีอื่นๆ ในการตรวจสอบได้อีก แต่ข้อเสนอทุกอย่างก็ไม่เป็นผล เพราะทุกวันนี้ธนาคารต่างๆ ไม่มีวันรู้ได้เลยว่า คำสั่งที่ app store สั่งมาให้ตัดเงินนั้น ลูกค้าซื้อจริง หรือเพียงแค่ app store สั่งมาให้ตัด เพื่อเช็กบัญชีเท่านั้น
“app store มันใหญ่มาก จึงไม่สนใจ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ ซึ่งกรณีการหักเงินนี้ มันจะเกิดขึ้นครั้งแรกเพียงครั้งเดียวที่เราผูกบัญชี แต่ด้วยความที่คนไทย มักมีพฤติกรรมที่ชอบให้ลูกหลานเล่นโทรศัพท์ ประกอบกับที่โทรศัพท์เครื่องนั้นๆ ผูกบัญชีไว้กับบัตรเดบิต จึงหาทางออกโดยการที่เวลาซื้อ ฉันไปผูกบัตร เวลาไม่ซื้อฉันเลิกผูกบัตร จะซื้อครั้งใหม่ค่อยไปผูกบัตรอีก ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้ทาง app store เรียกเก็บเงินซ้ำซ้อนหลายครั้ง โดยในเมืองไทย บัตรเดบิตที่ใช้ซื้อของออนไลน์มีอยู่ 3 ธนาคาร คือ ธนาคารกสิกร ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งทั้ง 3 แบงก์ล้วนมีประสบการณ์เดียวกัน” แหล่งข่าวกสิกรไทยเปิดหมดทุกรายละเอียด
เลือกแอพที่ใช่ จ่ายผ่านบัตรเดบิต
เหล่าธนาคารไทย ได้กำไรจากการที่ลูกค้าซื้อ app เท่าไร?
“ธนาคารไม่มีส่วนได้ส่วนเสียสักบาทเดียวกับการซื้อ app ผ่าน app store ของลูกค้า มิหนำซ้ำธนาคารยังต้องเป็นธุระหาระบบรองรับ ต้องมานั่งมอนิเตอร์นับ 30 วันคืนเงินลูกค้า และเสียค่าใช้จ่ายทำกระบวนการเพิ่มเติม เพื่อสอดรับความต้องการของลูกค้าในส่วนนี้ด้วย” แหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทย เล่าอย่างละเอียด
ในส่วนของบางประเทศ เงินจำนวน 1 USD อาจน้อยนิด หรือมีค่าเทียบเท่ากับแค่บาทเดียวของประเทศไทย ฉะนั้น ถึงแม้เราจะเสนอแนะ หรือทำจดหมายแนะนำถึงวิธีการหักเงินส่งไปให้ app store แต่เขาก็ไม่สนใจ เพราะทุกประเทศทั่วโลก เขาใช้มาตรฐานเดียวกัน อเมริกา ยุโรปก็เป็นแบบนี้ คนทั้งโลก ยังทำอะไรเขาไม่ได้เลย แล้วเราจะไปทำอะไรเขาได้
ใครคือผู้ได้กำไรจากการขายแอพ Apple หรือ ธนาคาร
สคบ.ว่าอย่างไร? เคสนี้ผู้บริโภคโดนเอาเปรียบหรือไม่?
ด้าน นายไพโรจน์ คนึงทรัพย์ ผู้อำนวยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยกับทีมข่าวว่า หากทางธนาคารมีการหักเงินจากลูกค้า 30 บาท หรือ 1 เหรียญก่อน โดยมีจุดประสงค์เพื่อทดลองหักเงินจากบัตร และจะคืนเงินเข้าบัญชีจริงภายใน 33 วันนั้น ถือว่าไม่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เพราะธนาคารจะต้องหาวิธีมาป้องกันความเสียหายเสียก่อน ซึ่งถ้าเกิดกรณีที่ทางธนาคารมีจำนวนลูกค้าหลายร้อยราย แต่กลับไม่สามารถหักได้จริง ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารได้
“ในส่วนของระยะเวลาการคืนใน 30 วันนั้น ถือว่าทางธนาคารอาจจะคืนเงินล่าช้าจนเกินไปและไม่เหมาะสม แต่ควรมีการกำหนดระยะเวลาคืนเงินภายใน 15 วัน จึงจะเป็นช่วงเวลาที่กำลังพอเหมาะพอดี ดังนั้น ทางออกของธนาคาร คือ ปรับปรุงระบบการคืนเงินให้มีความรวดเร็วกว่านี้เสียหน่อย” ผอ.ด้านสัญญา สคบ.กล่าว
ขณะที่ ปัญหาที่ทางประชาชนหรือผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนกับทาง สคบ. ในแง่ของธนาคารมากที่สุด คือ เรื่องของยอดเงินในบัญชีที่จะโดนธนาคารทั้งพาณิชย์และรัฐบาลหักเงินไปเรื่อยๆ หากยอดเงินในบัญชีมีไม่ถึงอัตราที่กำหนด และบัญชีไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น หากคุณฝากเงินไว้กับธนาคารใดธนาคารหนึ่งไม่ถึง 500 บาท แต่คุณไม่เข้าไปทำธุรกรรมใดๆ กับบัญชีนั้นเลย ทางธนาคารจะหักเงินในบัญชีนั้นเรื่อยๆ จนกว่าที่เงินในบัญชีจะหมด หรือคุณเข้าไปติดต่อทำธุรกรรม โดยทางธนาคารต่างๆ ให้สาเหตุว่า ทางธนาคารเสียเวลาในการรักษาบัญชี ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการเอาเปรียบแก่ผู้บริโภค และควรจะแจ้งเจ้าของบัญชีเสียก่อน เพื่อติดต่อให้มารับเงินคืน.
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved
jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด